วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติของถวัลย์ ดัชนี






                         ถวัลย์ ดัชนี




                



นายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา หรือ ดัชนี นามสกุลปัจจุบัน) ได้ให้กำเนินบุตรชายคนสุดท้องที่ชื่อ นายถวัลย์ ดัชนี เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2482 ที่จังหวัดเชียงราย ของจำนวนพี่-น้อง ทั้ง 4 คน ได้แก่ พ.ต.สว่าง , นายสมจิตต์ และนายวสันต์ ดัชนี ปัจจุบันอายุ 65 ปี

สมรสกับนางคำเอ้ย ลูกครึ่งไทย - มาเลเซีย มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ชื่อ นายดอยธิเบศร์ ต่อมาสมรสกับ ทิพยชาติ วรรณกุล ชาวลพบุรี ไม่มีบุตร และอยู่ร่วมกันมาจนขณะนี้เป็นเวลาร่วม 20 ปี

นับแต่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย นายถวัลย์ได้เข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว

ภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับคัดเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย

เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ.2500 นายถวัลย์ ได้เดินตามแนวทางของ ดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้เขามีพัฒนาการงาน

จากภาพวาดเหมือนจริงไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressioninsm) แบบไทย จุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขา

นอกจากความสามารถที่มีพรสวรรค์ของเขาแล้ว นายถวัลย์ ยังจัดเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะนั้น ที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ เนื่องจากหากผู้เรียนรายใดมีความรู้ความสามารถไม่โดดเด่นอย่างแท้จริงแล้วจะได้รับเพียงอนุปริญญา และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากที่แห่งนี้แล้ว เขายังได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ให้ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นเวลา 5 ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลป อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ระหว่างศึกษาอยู่ที่แห่งนี้ผลงานสร้างสรรค์ของเขาได้รับการยอมรับและนิยมชมชอบในวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จนได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะระดับนานาชาติ ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Men Show และการจัดแสดงกลุ่มอีกมากมายหลายครั้งทั้งในและต่างประเทศนับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย เช่น

- นิทรรศการศิลปะของโรงเรียนเพาะช่าง ในปี พ.ศ. 2497
-นิทรรศการการแสดงของนักเรียนเพาะช่างที่เด่นด้านจิตรกรรม ณ หอศิลป์แห่งชาติโตเกียว ญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2498
-นิทรรศการแสดงกลุ่มนักศึกษาภายหลังปริญญาตรี ของราชวิทยาลัยศิลปะ อัมสเตอร์ดัม ปี 2509 เป็นต้น

นอกจากการแสดงผลงานต่าง ๆ ที่มีมาตลอดแล้วการใช้ชีวิตตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของเขาหลังจบการศึกษาและระหว่างการศึกษางานด้านศิลปะ นายถวัลย์ ยังมีผลงานติดตั้งแสดงถาวรอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปสมัยใหม่ และสถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการได้รับการกล่าวขานทางด้านผลงานและชื่อเสียงของเขา ผ่านสื่อภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เช่น

- ภาพยนตร์ 16 มม. เรื่องแรกโดยยูซิสแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2505 ภาพยนตร์สารคดีศิลปะร่วมสมัย ปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซ็น 2512 สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน มิวนิค เยอรมันนี
– ภาพยนตร์ สารคดี ศิลปวัฒนธรรมไทแลนด์พาโนรามา โดย บีบีซี อังกฤษ ปี พ.ศ. 2532 เรื่องราว การนำเสนอ พลังเนรมิต ความฉับพลันของสภาวะจิต ความขัดแย้งระหว่างอุปาทานขันธ์ สมมุติสัจจะและปรมัติสัจจ

- รายการชีพจรลงเท้า 3 ครั้ง หนึ่งในร้อย ที่นี่กรุงเทพ ศิลปวัฒนธรรมบันเทิง มาลัยเก้า-เกียรติยศ ตลอดจนรายการหลากหลายกับงานศิลปะ บทกวีรวมเล่มภาษาอังกฤษ โดย ถวัลย์ ดัชนี และเพื่อนทั้งสาม อดุล เปรมบุญ , ประพันธ์ ศรีสุตา , ผดุงศักดิ์ ขัมภรัตน์ ปี พ.ศ. 2512 ฯลฯ

และทางเอกสารสิ่งพิมพ์ภาษาต่างประเทศเผยแพร่ไปทั่วโลกอีกมากมาย เช่น

- ถวัลย์ ดัชนี จิตรกรรมไทยสากลวิญญาณตะวันออก (พิมพ์ 3 ภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี) โดย กิลเบริ์ท บราวสัสโตน

- ภาพร่างเส้นใยวิญญาณ ถวัลย์ ดัชนี (ภาษาเยอรมัน) โดย อูลลิช ชาร์คอสสกี้

- งานจิตรกรรม งานแกะไม้ งานภาพลายเส้นของ ถวัลย์ ดัชนี พิมพ์ที่ อเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2509-2512 ยุคปลายสมัยศิลปากร – อัมสเตอร์ดัม

- หนังสืออ้างอิงชีวประวัติเล่มแรกของจิตรกรไทย ที่มีชีวิตในประวัติศาสตร์วงการศิลปะ ลายเส้น พุทธปรัชญานิกายหินยาน ทศชาติชาดก โดย ดร.เคล้าส์ เว้งค์

- ชีวิตและงานถวัลย์ ดัชนี ระหว่างปี 2505-2535 (ภาษาฝรั่งเศส) โดย คิลเบริ์ท ฯลฯ

เมื่อใดที่ผู้คนทั่วไปได้มองเห็น ภาพผู้ชายร่างใหญ่ ค่อนไปทางเจ้าเนื้อแต่งกายด้วยชุดพื้น
เมืองทางเหนือสีครามเข้ม หรือสีกรัก มีเขี้ยวเล็บ และกระดูกสัตว์ป่าเป็นเครื่องประดับห้อยอยู่นั้น ทุกคนย่อมรู้ดีว่า นั่นคือ ภาพลักษณ์ของผู้ชายที่ชื่อ ถวัลย์ ดัชนี ที่ค่านิยมไม่ยอมรับแฟชั่น หรือกระแสวัฒนธรรมทางวัตถุใด ๆ

โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวเป็นคนสมถะ กินน้อย(แต่เวลานี้กินมาก) นอนน้อย ทำงานมาก มีงานวาดรูปเป็นกิจนิสัย ตลอดชีวิตไม่เคยข้องแวะกับอบายมุขหรือสิ่งเสพย์ติดใด ๆ เป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน

นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่ชอบศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติธรรมตามหลักมัชฌิมาปติปทา ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป ปฏิบัติสมาธิด้วยการทำงานวาดรูปจึงสามารถนำปรัชญาธรรมในพุทธศาสนามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะจนได้ชื่อว่า เป็นสื่อกลางเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าหากันในยุคปัจจุบัน

ส่วนหนึ่งของเวลาส่วนตัวเขายังทุ่มเทไปกับการฟูมฟักศิลปสถาน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านคำ ดอยนางแล” ที่จังหวัดเชียงรายบ้านเกิด ให้กลายเป็นสถานที่ทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ ด้วยการจัดเป็น พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้าน บนพื้นที่ว่างกว่าร้อยไร่ ประกอบเป็นอาคารแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ 35 หลังและอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์อีกหลายหลัง สำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art) ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ซึ่งมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เขาใช้เวลาในการรวบรวมด้วยความตั้งใจนำมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้สนใจได้เข้าชมนานกว่า 20 ปี ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ของการสั่งสมประสบการณ์ ผลงานต่าง ๆ ของผู้ชายคนนี้ เขายังเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการรวมตัวของช่างผู้รังสรรค์ศิลปะ ทั้งช่างในท้องถิ่นและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม

มีผลงานศิลปะหลากหลายออกสู่สายตาสาธารณชน รวมถึงการบริจาคเงินจำนวน 12 ล้านบาท จัดตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ด้วยการนำดอกผลจากกองทุนดังกล่าวสนับสนุนการศึกษาของสถานศึกษาที่เขาเกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม โรงเรียนสามัคคีวิทยา ในจังหวัดเชียงราย วิทยาเขตเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน – นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ สถาบันละ 10 ทุน ตลอดมาจนปัจจุบัน

จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าวข้างต้น ของผู้ชายที่ชื่อ ถวัลย์ ดัชนี แสดงให้เห็นได้ถึงความเป็นศิลปินทางด้าน “ช่างวาดรูป” ผู้มีพุทธิปัญญานำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างสรรค์งานศิลปไทยร่วมสมัยอันทรงพลังลุ่มลึกและแกร่งกร้าวด้วยปัจเจกภาพส่วนตัว มีเนื้อหาสาระและท่วงทำนองมีที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของความเป็นไทยให้เห็นเกือบทุกชิ้นงาน

เป็นผู้นำศิลปะไทยเสนอต่อสายตาชาวโลกด้วยวิธีการที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งยังได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จึงไม่แปลกเลยที่ ในปี พ.ศ. 2544 Fukuoka Asian Culture Prize Committee ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้รางวัล Art and Colture Prize แก่เขา และต่อมาประเทศไทยประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เขาเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2544

ดร.ถวัลย์ ดัชนี
เกิดเมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2482 ที่จังหวัดเชียงราย
สำเร็จการศึกษา - ปริญญาตรีบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม
มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
- ปริญญาโท ด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง
- ปริญญาเอก ด้านอภิปรัชญา และสุนทรีย์ศาสตร์ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ผลงานของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี
ผู้ที่มีพุทธิปัญญาสามารถนำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างงานศิลปะไทยร่วมสมัยที่ทรงพลัง ลุ่มลึกและแกร่งกร้าว มีเนื้อหาสาระ และท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทย ผสมผสานระหว่างแนวปรัชญาตะวันออกและตะวันตก เป็นผู้มีบทบาทยิ่งในการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยโดยมีผลงานแสดงเดี่ยว และกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศ และต่างประเทศแถบเอเชีย ยุโรปและอเมริกา จนสื่อมวลชนต่างประเทศสนใจชีวิต และงานของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี จัดทำเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์เผยแพร่ไปทั่วโลกมากมาย
ท่านเป็นจิตรกรคนแรกที่ได้รับรางวัล วัฒนธรรมแห่งเอเชีย เมืองฟุคุโอกะ ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2544 (The 12th Fukuoka Asian Culture Prizes 2001)
และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ.2544
นอกจากนี้ ยังได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะด้วยการตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี สนับสนุนการศึกษาโดยเฉพาะด้านทัศนศิลป์ รวมทั้ง ได้ใช้เวลานานกว่า 25 ปี สร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านในเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่บ้านดำ ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย สำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาศิลปะวัฒนธรรมของอนุชนรุ่นหลังสืบไป



































































































































วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประวัติศาสตร์ไทย


ประวัติศาสตร์ไทย



ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เริ่มนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา หากแต่ในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบัน พบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงห้าแสนปี[1] ตลอดจนหลักฐานของอารยธรรมและรัฐโบราณเป็นจำนวนมาก

ภูมิภาคสุวรรณภูมิเคยถูกปกครองโดยชาวมอญ เขมรและมาเลย์มาก่อน ต่อมา คนไทยได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นใน พ.ศ. 1781 และขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่อ่อนแอลงหลังรัชสมัยของพระองค์ และถูกผนวกรวมกับอาณาจักรอยุธยาในที่สุด อาณาจักรอยุธยาก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 1893 เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กว่าสุโขทัย มีการติดต่อกับชาติตะวันตกตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 ก่อนจะล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2310 พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
การลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้ชาติตะวันตกหลายชาติเข้ามาทำสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับ ต่อมา แม้จะมีการเสียดินแดนหลายครั้งให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่สยามไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก กุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร อันทำให้สยามได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และนำมาซึ่งการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมทั้งหลาย
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น แต่ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา มีนโยบายต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค
หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยยังถือได้ว่าอยู่ในระบอบเผด็จการในทางปฏิบัติอยู่หลายทศวรรษ ประเทศไทยประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และมีการสืบทอดอำนาจรัฐบาลทหารผ่านรัฐประหารหลายสิบครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นได้มีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยในประเทศเริ่มมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเกิดวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548
การจัดแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงพระทัศนะไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง "ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร" ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเมื่อ พ.ศ. 2457 ถึงการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของไทยไว้ว่า"เรื่องพระราชพงศาวดารสยาม ควรจัดแบ่งเป็น 3 ยุค คือ เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานียุค 1"[2] ซึ่งการลำดับสมัยทางประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง (Linear) โดยวางโครงเรื่องผูกกับกำเนิดและการล่มสลายของรัฐ กล่าวคือใช้รัฐหรือราชธานีเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน มีข้อเสนอใหม่ ๆ เกี่ยวกับโครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญคือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เสนอถึงหัวข้อสำคัญที่ควรเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยไว้ 8 หัวข้อ ดังนี้[3]

ยุคก่อนประวัติศาสตร์และรัฐโบราณในประเทศไทย


แผนที่แสดงรัฐโบราณในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบัน

หลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์

นักโบราณคดีชาวฮอลันดา ดร. เอช. อาร์. แวน ฮิงเกอเรน ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินเทาะซึ่งทำขึ้นโดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณใกล้สถานีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์เหล่านี้อาจเป็น มนุษย์ชาวและมนุษย์ปักกิ่ง[4] ซึ่งอยู่อาศัยเมื่อประมาณ 5 แสนปีมาแล้ว อันเป็นหลักฐานในยุคหินเก่า
ในประเทศไทยพบหลักฐานของมนุษย์ยุคหินกลางในหลายจังหวัด โดยที่อำเภอไทรโยค ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินและโครงกระดูก จึงทำให้สันนิษฐานว่าดินแดนซึ่งแม่น้ำกลองไหลผ่านได้มีมนุษย์อยู่อาศัยมานานกว่า 20,000 ปี[5] ส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าที่สุดในประเทศไทย อายุเกือบ 1,000 ปี ถูกค้นพบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน[4] จึงทำให้เกิดแนวคิดที่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นถิ่นกำเนิดของการกสิกรรมครั้งแรกของโลก[6] นอกจากนี้ยังค้นพบขวานหินขัดในหลายภาคของประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักฐานของมนุษย์ยุคหินใหม่[7]
การขุดค้นโดยวิทยา อันทรโกศัย แห่งกรมศิลปากร ทำให้พบโครงกระดูกและเศษผ้าไหมติดกระดูกเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งคาดว่ามีอายุถึง 3,000 ปี[8] ก่อนที่การค้นพบหลักฐานเพิ่มเติมที่ตำบลโคกพนมดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งยืนยันว่ามีอายุ 5,000 ปี อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสูง และเผยแพร่ไปส่ประเทศจีนและส่วนอื่น ๆ ของทวีปเอเชีย[9] นายดอน ที บายาด ยังได้ขุดค้นขวานทองแดงในบ้านโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น ยืนยันถึงการใช้เครื่องสำริดในยุคหินใหม่ ซึ่งเก่าแก่กว่าหลักฐานที่ขุดค้นพบในจีนและอินเดียกว่า 500-1,000 ปี[7]

ชนพื้นเมืองและการอพยพเข้ามาในประเทศไทย

นักมานุษยวิทยาได้จัดประเภทมนุษย์สมัยโบราณรุ่นแรกในตระกูลออสโตเนเซียน ซึ่งเป็นพวกที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อหลายพันปีที่แล้ว รวมทั้งเป็นบรรพบุรุษของชนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน[9] ต่อมา มนุษย์ในตระกูลมอญและเขมรจะอพยพเข้ามาจากจีนหรืออินเดียด้วย ก่อนที่พวกไทยจะอพยพเข้ามาแย่งชิงดินแดนจากพวกละว้า ซึ่งเป็นชนชาติล้าหลัง[10] ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันจึงสันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากพวกละว้า[10]

แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไท

รัฐโบราณในประเทศไทย

จากหลักฐานด้านโบราณคดี ตำนาน นิทานพื้นบ้าน บันทึกราชการของจีน และบันทึกของพระภิกษุจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพุทธศตวรรษที่ 12 ทำให้ทราบว่ามีอารยธรรมมนุษย์ได้สถาปนาอำนาจในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว[11] โดยอาณาจักรโบราณในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน สามารถจำแนกได้ดังรายชื่อด้านล่าง[12]

สมัยอาณาจักรสุโขทัย และยุครุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา

ดูบทความหลักที่ อาณาจักรสุโขทัย และ อาณาจักรล้านนา
การล่มสลายของจักรวรรดิขะแมร์เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้เกิดอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 1781 อาณาจักรสุโขทัยขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่เสถียรภาพของอาณาจักรได้อ่อนแอลงภายหลังการสวรรคตของพระองค์[13] ลักษณะการปกครองเป็นแบบพ่อปกครองลูก เนื่องจากมีความใกล้ชิดระหว่างผู้ปกครองและราษฎร แต่ในรัชสมัยพญาลิไทก็ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นธรรมราชา จากการรับอิทธิพลของศาสนาพุทธเข้ามา
ในช่วงเวลาเดียวกันอาณาจักรล้านนา ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 1802 โดยพญามังราย ที่ขยายอำนาจมาจากลุ่มแม่น้ำกกและอิง สู่ลุ่มแม่น้ำปิง พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ และทรงมีสัมพันธ์อันดีกับพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย อาณาจักรเชียงใหม่หรือล้านนา มีอำนาจสืบต่อมาในแถบลุ่มแม่น้ำปิง เชียงใหม่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักกับอาณาจักรอยุธยา หรือกรุงศรีอยุธยา ที่เรืองอำนาจในพุทธศตวรรษที่ 19-20 มีการทำสงครามผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเชียงใหม่ได้ปราชัยต่อพม่า ในปีพ.ศ. 2101 ถูกพม่ายึดครองอีกครั้งในราวปี 2310 กระทั่งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2318 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ ได้ทรงขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนา โดยหลังจากนั้น พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ ได้ทรงปกครองอาณาจักรล้านนา ในฐานะประเทศราชสยาม

สาเหตุการเลือกอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย

นักวิชาการให้เหตุผลในการเลือกเอาอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยไว้ 2 เหตุผล ได้แก่:
  1. วิชาประวัติศาสตร์มักจะยึดเอาการที่มนุษย์เริ่มมีภาษาเขียนเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ หลักฐานประเภทลายลักษณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งเมื่อประกอบกับการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงเหมาะสมที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย
  2. เป็นการสะดวกในด้านการนับเวลาและเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์มีหลักฐานความสืบเนื่องกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน
ทว่า เหตุผลทั้งสองประการก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นเอกฉันท์นัก[14]

สมัยอาณาจักรอยุธยา

ดูบทความหลักที่ อาณาจักรอยุธยา
พระเจ้าอู่ทองทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาในปี พ.ศ. 1893 ซึ่งในช่วงแรกนั้นก็มิได้เป็นศูนย์กลางของชาวไทยในดินแดนคาบสมุทรอินโดจีนทั้งปวง แต่ด้วยความเข้มแข็งที่ทวีเพิ่มขึ้นประกอบกับวิธีการทางการสร้างความสัมพันธ์กับชาวไทยกลุ่มต่าง ๆ ในที่สุดอยุธยาก็สามารถรวบรวมกลุ่มชาวไทยต่าง ๆ ในดินแดนแถบนี้ให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจได้ นอกจากนี้ยังกลายมาเป็นรัฐมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว
การเข้าแทรกแซงสุโขทัยอย่างต่อเนื่องทำให้อาณาจักรสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยาในที่สุด สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครองโดยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2054 ทำให้อยุธยาเริ่มการติดต่อกับชาติตะวันตก ในสมัยอาณาจักรอยุธยามีการติดต่อกับต่างประเทศอยู่หลายชาติ โดยชาวโปรตุเกสได้เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากนั้น ชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมากและมีบทบาทสำคัญ ได้แก่ ชาวดัตช์ ชาวฝรั่งเศส ชาวจีน และชาวญี่ปุ่น
ราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อราชวงศ์ตองอูของพม่าเริ่มมีอำนาจมากขึ้น การสงครามอันยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2091 ส่งผลให้อยุธยาตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรตองอูในที่สุด ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะทรงประกาศอิสรภาพในอีก 15 ปีต่อมา
อาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล จากทิศเหนือจรดอาณาจักรล้านนา ไปจรดคาบสมุทรมลายูทางทิศใต้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอยุธยารุ่งเรืองขึ้นอย่างมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อย่างไรก็ตาม ความสงสัยในตัวของคอนสแตนติน ฟอลคอน ทำให้ถูกสังหารโดยพระเพทราชา อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมอำนาจลงราวพุทธศตวรรษที่ 24 การทำสงครามกับพม่าหลังจากนั้นส่งผลทำให้อยุธยาถูกปล้นสะดมและเผาทำลาย เมื่อปี พ.ศ. 2310

สมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์

รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ดูบทความหลักที่ อาณาจักรธนบุรี
ในปี พ.ศ. 2310-2325 เริ่มต้นหลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ขับไล่ทหารพม่าออกจากแผ่นดินไทย ทำการรวมชาติ และได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี โดยจัดตั้งการเมืองการปกครอง มีลักษณะการเมืองการปกครองยังคงดำรงไว้ซึ่งการเมืองการปกครองภายในสมัยอยุธยาอยู่ก่อน โดยมีพระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการเมืองการปกครอง อย่างไรก็ตาม ภายหลังสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้สถาปนาตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเทพมหานคร เริ่มยุคสมัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1790 กองทัพพม่าถูกขับไล่ออกจากดินแดนรัตนโกสินทร์อย่างถาวร และทำให้แคว้นล้านนาปลอดจากอิทธิพลของพม่าเช่นกัน โดยล้านนาถูกปกครองโดยราชวงศ์ที่นิยมราชวงศ์จักรีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามอย่างเป็นทางการ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยยังเผชิญกับการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สงครามเก้าทัพสงครามท่าดินแดงกับพม่า ตลอดจนกบฏเจ้าอนุวงศ์กับลาว และอานามสยามยุทธกับญวน
ในช่วงนี้ กรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่ค่อยมีการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกมากนัก ต่อมาเมื่อชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาค้าขายอีก ได้ตระหนักว่าพวกพ่อค้าจีนได้รับสิทธิพิเศษเหนือคนไทยและพวกตน จึงได้เริ่มเรียกร้องสิทธิพิเศษต่าง ๆ มาโดยตลอด[15] มีการเดินทางเยือนของทูตหลายคน อาทิ จอห์น ครอเฟิร์ต ตัวแทนจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ[15] ซึ่งเข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ยังไม่บรรลุข้อตกลงใด ๆ สนธิสัญญาที่มีการลงนามในช่วงนี้ เช่น สนธิสัญญาเบอร์นี และสนธิสัญญาโรเบิร์ต[15] แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ไม่มีผลกระทบมากนัก และชาวตะวันตกไม่ค่อยได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ได้มีคณะทูตตะวันตกเข้ามาเสนอสนธิสัญญาข้อตกลงทางการค้าอยู่เรื่อย ๆ เพื่อขอสิทธิทางการค้าให้เท่ากับพ่อค้าจีน และอังกฤษต้องการเข้ามาค้าฝิ่นอันได้กำไรมหาศาล[15] แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งคณะของเจมส์ บรุคจากอังกฤษ และโจเซฟ บัลเลสเตียร์จากสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวตะวันตกขุ่นเคืองต่อราชสำนัก

การเผชิญหน้ากับมหาอำนาจตะวันตก

ดูเพิ่มที่ สยาม
ภายหลังจากที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ. 2369 พระมหากษัตริย์ไทยในรัชสมัยถัดมาจึงทรงตระหนักถึงภัยคุกคามที่มาจากชาติมหาอำนาจในทวีปยุโรป และพยายามดำเนินนโยบายทอดไมตรีกับชาติเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม สยามมีการเปลี่ยนแปลงดินแดนหลายครั้ง รวมทั้งตกอยู่ในสถานะรัฐกันชนระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ถึงกระนั้น สยามก็ไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ดูบทความหลักที่ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า คณะราษฎร ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองแก่ประเทศไทยอย่างมาก และทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เคยเป็นผู้ปกครองสูงสุดของประเทศมาช้านานต้องสูญเสียอำนาจส่วนใหญ่ไปในที่สุด โดยมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 ขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างถาวรเป็นฉบับแรก
ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงดังกล่าว การต่อสู้ทางการเมืองยังคงมีการต่อสู้กันระหว่างผู้นำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช กับระบอบใหม่ รวมทั้งความขัดแย้งในผู้นำระบอบใหม่ด้วยกันเอง โดยการต่อสู้ทางการเมืองและทางความคิดอุดมการณ์นี้ได้ดำเนินต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลากว่า 25 ปีภายหลังจากการปฏิวัติ และนำไปสู่ยุคตกต่ำของคณะราษฎรในกาลต่อมา ทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวถูกมองว่าเป็นพฤติการณ์ "ชิงสุกก่อนห่าม" เนื่องจากชาวไทยยังไม่พร้อมสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งการปกครองในระยะแรกหลังการปฏิวัติยังคงอยู่ในระบอบเผด็จการทหาร

สงครามโลกครั้งที่สอง

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลเอาดินแดนคืนของนิสิตนักศึกษา จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จึงส่งทหารข้ามแม่น้ำโขงและรุกรานอินโดจีนฝรั่งเศส จนได้ดินแดนคืนมา 4 จังหวัด ภายหลังการเข้าไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น โดยมีการรบที่เป็นที่รู้จักกันมาก ได้แก่ การรบที่เกาะช้าง
ต่อมา หลังจากการโจมตีกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ กองทัพญี่ปุ่นก็ได้รุกรานประเทศไทย โดยต้องการเคลื่อนทัพผ่านดินแดน รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงครามได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น รวมทั้งลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรทางการทหารกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ซึ่งนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลถูกต่อต้านจากทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากไทยประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 แม้ว่าประเทศไทยจะตกอยู่ในสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม แต่เนื่องจากการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับ และไม่ถูกยึดครอง เพียงแต่ต้องคืนดินแดนระหว่างสงครามให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส และจ่ายค่าเสียหายทดแทนเท่านั้น

สงครามเย็น

รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในระหว่างสงครามเย็น ดังจะเห็นได้จากนโยบายต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในคาบสมุทรอินโดจีน และยังส่งทหารไปร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม
ประเทศไทยประสบกับปัญหากองโจรคอมมิวนิสต์ในประเทศระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ค่อยจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศสักเท่าไหร่ และกองโจรก็หมดไปในที่สุด

การพัฒนาประชาธิปไตย

หลังจากปัจจัยแวดล้อมด้านต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้น ประชาชนมีความพร้อมต่อการใช้อำนาจอธิปไตยเพิ่มมากขึ้น การเรียกร้องอำนาจอธิปไตยคืนจากฝ่ายทหารก็เกิดขึ้นเป็นระยะ กระทั่งในที่สุด ภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ฝ่ายทหารก็ไม่สามารถถือครองอำนาจอธิปไตยได้อย่างถาวรอีกต่อไป อำนาจอธิปไตยจึงได้เปลี่ยนไปอยู่ในมือของกลุ่มนักการเมือง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลสามกลุ่มหลัก คือ กลุ่มทหารที่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักการเมือง กลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพล และกลุ่มนักวาทศิลป์ แต่ต่อมาภายหลังจากการสิ้นสุดลงของยุคสงครามเย็น โลกได้เปลี่ยนมาสู่ยุคการแข่งขันกันทางการค้าซึ่งมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก กลุ่มการเมืองที่มาจากกลุ่มทุนนิยมสมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทแทน

บรรณานุกรม

  • วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์. (2545). บรรพบุรุษไทย: สมัยก่อนสุโขทัยและสมัยสุโขทัย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 974-13-17


  วิดิโอเสียงประวัติวันภาษาไทย