วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติของถวัลย์ ดัชนี






                         ถวัลย์ ดัชนี




                



นายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา หรือ ดัชนี นามสกุลปัจจุบัน) ได้ให้กำเนินบุตรชายคนสุดท้องที่ชื่อ นายถวัลย์ ดัชนี เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2482 ที่จังหวัดเชียงราย ของจำนวนพี่-น้อง ทั้ง 4 คน ได้แก่ พ.ต.สว่าง , นายสมจิตต์ และนายวสันต์ ดัชนี ปัจจุบันอายุ 65 ปี

สมรสกับนางคำเอ้ย ลูกครึ่งไทย - มาเลเซีย มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ชื่อ นายดอยธิเบศร์ ต่อมาสมรสกับ ทิพยชาติ วรรณกุล ชาวลพบุรี ไม่มีบุตร และอยู่ร่วมกันมาจนขณะนี้เป็นเวลาร่วม 20 ปี

นับแต่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย นายถวัลย์ได้เข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว

ภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับคัดเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย

เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ.2500 นายถวัลย์ ได้เดินตามแนวทางของ ดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้เขามีพัฒนาการงาน

จากภาพวาดเหมือนจริงไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressioninsm) แบบไทย จุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขา

นอกจากความสามารถที่มีพรสวรรค์ของเขาแล้ว นายถวัลย์ ยังจัดเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะนั้น ที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ เนื่องจากหากผู้เรียนรายใดมีความรู้ความสามารถไม่โดดเด่นอย่างแท้จริงแล้วจะได้รับเพียงอนุปริญญา และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากที่แห่งนี้แล้ว เขายังได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ให้ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นเวลา 5 ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลป อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ระหว่างศึกษาอยู่ที่แห่งนี้ผลงานสร้างสรรค์ของเขาได้รับการยอมรับและนิยมชมชอบในวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จนได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะระดับนานาชาติ ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Men Show และการจัดแสดงกลุ่มอีกมากมายหลายครั้งทั้งในและต่างประเทศนับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย เช่น

- นิทรรศการศิลปะของโรงเรียนเพาะช่าง ในปี พ.ศ. 2497
-นิทรรศการการแสดงของนักเรียนเพาะช่างที่เด่นด้านจิตรกรรม ณ หอศิลป์แห่งชาติโตเกียว ญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2498
-นิทรรศการแสดงกลุ่มนักศึกษาภายหลังปริญญาตรี ของราชวิทยาลัยศิลปะ อัมสเตอร์ดัม ปี 2509 เป็นต้น

นอกจากการแสดงผลงานต่าง ๆ ที่มีมาตลอดแล้วการใช้ชีวิตตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของเขาหลังจบการศึกษาและระหว่างการศึกษางานด้านศิลปะ นายถวัลย์ ยังมีผลงานติดตั้งแสดงถาวรอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปสมัยใหม่ และสถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการได้รับการกล่าวขานทางด้านผลงานและชื่อเสียงของเขา ผ่านสื่อภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เช่น

- ภาพยนตร์ 16 มม. เรื่องแรกโดยยูซิสแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2505 ภาพยนตร์สารคดีศิลปะร่วมสมัย ปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซ็น 2512 สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน มิวนิค เยอรมันนี
– ภาพยนตร์ สารคดี ศิลปวัฒนธรรมไทแลนด์พาโนรามา โดย บีบีซี อังกฤษ ปี พ.ศ. 2532 เรื่องราว การนำเสนอ พลังเนรมิต ความฉับพลันของสภาวะจิต ความขัดแย้งระหว่างอุปาทานขันธ์ สมมุติสัจจะและปรมัติสัจจ

- รายการชีพจรลงเท้า 3 ครั้ง หนึ่งในร้อย ที่นี่กรุงเทพ ศิลปวัฒนธรรมบันเทิง มาลัยเก้า-เกียรติยศ ตลอดจนรายการหลากหลายกับงานศิลปะ บทกวีรวมเล่มภาษาอังกฤษ โดย ถวัลย์ ดัชนี และเพื่อนทั้งสาม อดุล เปรมบุญ , ประพันธ์ ศรีสุตา , ผดุงศักดิ์ ขัมภรัตน์ ปี พ.ศ. 2512 ฯลฯ

และทางเอกสารสิ่งพิมพ์ภาษาต่างประเทศเผยแพร่ไปทั่วโลกอีกมากมาย เช่น

- ถวัลย์ ดัชนี จิตรกรรมไทยสากลวิญญาณตะวันออก (พิมพ์ 3 ภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี) โดย กิลเบริ์ท บราวสัสโตน

- ภาพร่างเส้นใยวิญญาณ ถวัลย์ ดัชนี (ภาษาเยอรมัน) โดย อูลลิช ชาร์คอสสกี้

- งานจิตรกรรม งานแกะไม้ งานภาพลายเส้นของ ถวัลย์ ดัชนี พิมพ์ที่ อเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2509-2512 ยุคปลายสมัยศิลปากร – อัมสเตอร์ดัม

- หนังสืออ้างอิงชีวประวัติเล่มแรกของจิตรกรไทย ที่มีชีวิตในประวัติศาสตร์วงการศิลปะ ลายเส้น พุทธปรัชญานิกายหินยาน ทศชาติชาดก โดย ดร.เคล้าส์ เว้งค์

- ชีวิตและงานถวัลย์ ดัชนี ระหว่างปี 2505-2535 (ภาษาฝรั่งเศส) โดย คิลเบริ์ท ฯลฯ

เมื่อใดที่ผู้คนทั่วไปได้มองเห็น ภาพผู้ชายร่างใหญ่ ค่อนไปทางเจ้าเนื้อแต่งกายด้วยชุดพื้น
เมืองทางเหนือสีครามเข้ม หรือสีกรัก มีเขี้ยวเล็บ และกระดูกสัตว์ป่าเป็นเครื่องประดับห้อยอยู่นั้น ทุกคนย่อมรู้ดีว่า นั่นคือ ภาพลักษณ์ของผู้ชายที่ชื่อ ถวัลย์ ดัชนี ที่ค่านิยมไม่ยอมรับแฟชั่น หรือกระแสวัฒนธรรมทางวัตถุใด ๆ

โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวเป็นคนสมถะ กินน้อย(แต่เวลานี้กินมาก) นอนน้อย ทำงานมาก มีงานวาดรูปเป็นกิจนิสัย ตลอดชีวิตไม่เคยข้องแวะกับอบายมุขหรือสิ่งเสพย์ติดใด ๆ เป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน

นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่ชอบศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติธรรมตามหลักมัชฌิมาปติปทา ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป ปฏิบัติสมาธิด้วยการทำงานวาดรูปจึงสามารถนำปรัชญาธรรมในพุทธศาสนามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะจนได้ชื่อว่า เป็นสื่อกลางเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าหากันในยุคปัจจุบัน

ส่วนหนึ่งของเวลาส่วนตัวเขายังทุ่มเทไปกับการฟูมฟักศิลปสถาน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านคำ ดอยนางแล” ที่จังหวัดเชียงรายบ้านเกิด ให้กลายเป็นสถานที่ทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ ด้วยการจัดเป็น พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้าน บนพื้นที่ว่างกว่าร้อยไร่ ประกอบเป็นอาคารแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ 35 หลังและอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์อีกหลายหลัง สำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art) ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ซึ่งมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เขาใช้เวลาในการรวบรวมด้วยความตั้งใจนำมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้สนใจได้เข้าชมนานกว่า 20 ปี ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ของการสั่งสมประสบการณ์ ผลงานต่าง ๆ ของผู้ชายคนนี้ เขายังเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการรวมตัวของช่างผู้รังสรรค์ศิลปะ ทั้งช่างในท้องถิ่นและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม

มีผลงานศิลปะหลากหลายออกสู่สายตาสาธารณชน รวมถึงการบริจาคเงินจำนวน 12 ล้านบาท จัดตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ด้วยการนำดอกผลจากกองทุนดังกล่าวสนับสนุนการศึกษาของสถานศึกษาที่เขาเกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม โรงเรียนสามัคคีวิทยา ในจังหวัดเชียงราย วิทยาเขตเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน – นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ สถาบันละ 10 ทุน ตลอดมาจนปัจจุบัน

จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าวข้างต้น ของผู้ชายที่ชื่อ ถวัลย์ ดัชนี แสดงให้เห็นได้ถึงความเป็นศิลปินทางด้าน “ช่างวาดรูป” ผู้มีพุทธิปัญญานำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างสรรค์งานศิลปไทยร่วมสมัยอันทรงพลังลุ่มลึกและแกร่งกร้าวด้วยปัจเจกภาพส่วนตัว มีเนื้อหาสาระและท่วงทำนองมีที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของความเป็นไทยให้เห็นเกือบทุกชิ้นงาน

เป็นผู้นำศิลปะไทยเสนอต่อสายตาชาวโลกด้วยวิธีการที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งยังได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จึงไม่แปลกเลยที่ ในปี พ.ศ. 2544 Fukuoka Asian Culture Prize Committee ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้รางวัล Art and Colture Prize แก่เขา และต่อมาประเทศไทยประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เขาเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2544

ดร.ถวัลย์ ดัชนี
เกิดเมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2482 ที่จังหวัดเชียงราย
สำเร็จการศึกษา - ปริญญาตรีบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม
มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
- ปริญญาโท ด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง
- ปริญญาเอก ด้านอภิปรัชญา และสุนทรีย์ศาสตร์ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ผลงานของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี
ผู้ที่มีพุทธิปัญญาสามารถนำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างงานศิลปะไทยร่วมสมัยที่ทรงพลัง ลุ่มลึกและแกร่งกร้าว มีเนื้อหาสาระ และท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทย ผสมผสานระหว่างแนวปรัชญาตะวันออกและตะวันตก เป็นผู้มีบทบาทยิ่งในการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยโดยมีผลงานแสดงเดี่ยว และกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศ และต่างประเทศแถบเอเชีย ยุโรปและอเมริกา จนสื่อมวลชนต่างประเทศสนใจชีวิต และงานของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี จัดทำเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์เผยแพร่ไปทั่วโลกมากมาย
ท่านเป็นจิตรกรคนแรกที่ได้รับรางวัล วัฒนธรรมแห่งเอเชีย เมืองฟุคุโอกะ ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2544 (The 12th Fukuoka Asian Culture Prizes 2001)
และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ.2544
นอกจากนี้ ยังได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะด้วยการตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี สนับสนุนการศึกษาโดยเฉพาะด้านทัศนศิลป์ รวมทั้ง ได้ใช้เวลานานกว่า 25 ปี สร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านในเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่บ้านดำ ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย สำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาศิลปะวัฒนธรรมของอนุชนรุ่นหลังสืบไป



































































































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น